Us (2019): การปฏิวัติของเงาที่ถูกเก็บซ่อนจากปัญหาอันหมักหมม

Us หรือชื่อในภาษาไทยว่า หลอน ลวง เรา ภาพยนตร์ลำดับที่สองของผู้กำกับจอร์แดน พีล (Jordan Peele) ที่เน้นบรรยากาศความระทึกขวัญผ่านซาวด์และมุมกล้องที่ชวนสงสัยและมืดมัวไม่น่าไว้ใจ พร้อมชวนขบคิดผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ผู้กำกับจงใจทิ้งไว้ให้เรา ก่อนที่ในตอนท้ายของเรื่องหนังจะหักมุมจนทำเอาเราอึ้งไปตาม ๆ กัน และพาให้หลายคนตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลของเรื่องราวทั้งหมด   

Us เล่าเรื่องราวของครอบครัววิลสัน ครอบครัวชนชั้นกลางผิวสีในอเมริกาที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวแปลกประหลาด หลังจากที่พวกเขาไปเที่ยวตากอากาศกันที่ชายหาดซานตาครูซ เมื่อกลางดึกในคืนพักผ่อนชายทะเล ขณะที่พวกเขากำลังพักผ่อนกันในบ้านพัก พวกเขาก็ได้พบเข้ากับกลุ่มคนที่มีใบหน้าและรูปร่างเหมือนกับพวกเขา อย่างกับแฝด หากแต่พวกมันใส่ชุดสีแดงคล้ายนักโทษ พยายามจะเอาชีวิตและมาแทนที่พวกเขา และยิ่งช็อกไปกว่านั้น เมื่อพบว่ากลุ่มคนหน้าเหมือนเหล่านี้ไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียวที่เป็น เงาของพวกเขา แต่ยังมีเงาของคนอื่น ๆ อีก เงาเหล่านี้ก่อความวุ่นวายและสร้างความโกลาหลไปทั่วทุกพื้นที่ของอเมริกา ไล่ฆ่าร่างต้นของตัวเอง เพื่อให้พวกมันได้เข้าแทนที่และยึดครองโลกของร่างต้นอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ครอบครัวของอเดเลด วิลสัน ต้องเอาชีวิตรอด จากร่างโคลนเหล่านี้ พร้อมกับสืบหาความจริงว่าพวกมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีจุดประสงค์อะไร

***บทความหลังจากนี้มีการเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ ***

การปรากฏตัวขึ้นของ “เรา” บนกรรไกรและจิตวิญญาณที่ผูกกัน

ร่างเงาเปิดฉากคุกคามครอบครัววิลสัน ทำลายค่ำคืนอันสงบสุข ด้วยการบุกรุกเข้าบ้านพักตากอากาศ ร่างเงาทั้งสี่เข้าจู่โจมและควบคุมพวกเขาไว้ พร้อมปรากฏใบหน้าที่เหมือนกับพวกวิลสันทั้งสี่คน เงาของอเดเลดที่ชื่อ เรด บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดด้วยความเจ็บช้ำจนทำให้ทราบว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่อเดเลดทำ เงาเองก็จะทำตามทั้งหมด เมื่อเธอมีสามีเงาก็มีสามี เมื่อเธอมีลูกเงาก็มีลูกเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่เงาได้รับนั้น ด้อยกว่าในทุกด้าน จากนั้นเงาต่าง ๆ ก็พยายามฆ่าร่างต้นของตัวเอง

ฉากการต่อสู้และความชุลมุนวุ่นวายนี้ ชี้ชวนให้เห็นอาวุธสำคัญของพวกเงา นั่นคือ กรรไกร กรรไกรในเรื่องถือเป็นอุปกรณ์การก่อวินาศกรรมชิ้นสำคัญของพวกเงาหรือร่างแฝด และดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือหลักที่ผู้กำกับพยายามให้เราเพ่งพินิจกับมัน หากเราลองใช้กรรไกรตัดอะไรสักอย่างทุกครั้งที่ใช้ ด้านคมของกรรไกรสองฝั่งจะทำงานพร้อมกัน ส่งผลสะท้อนซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับเงาในกระจกกับตัวผู้ส่อง เมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างต้นขยับ ร่างเงาก็จะขยับตาม ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะกิน นอน นั่ง เล่น หรือมีเซ็กซ์ หากแต่การกระทำที่สะท้อนไปยังร่างเงานั้นไม่ได้จริงแท้ในแง่ของความรู้สึกและจิตวิญญาณ แต่เป็นเพียงการกระทำดาด ๆ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่าเก็บ สามีของอเดเลดที่กำลังเล่นทุบหัวตัวตุ่น ร่างเงาก็ทำท่าทางผงกหัวตาม ขณะที่เจสัน ลูกชายพยายามจะจุดไฟแช็ก ร่างเงาที่ชื่อพลูโตก็จุดไฟแช็กเช่นกัน  แต่น่าเศร้าที่ไฟรนหน้าของพลูโตจนเสียโฉม และในขณะที่คนข้างบนกินหรูอยู่สบาย เงาก็มีปฏิกิริยาเช่นกัน ขณะที่คนข้างบนกินอาหารเลิศรสหลากหลาย เงาเบื้องล่างกลับลิ้มรสได้แค่เนื้อกระต่ายหลากสีที่ขยายพันธุ์ได้ไว ทำหน้าที่เป็นเพียงอาหารให้เงาได้ดำรงชีพเท่านั้น แต่ไม่อาจตอบสนองความหลากหลายของรสชาติอาหารและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างนอกเหนือการเป็นปัจจัยสี่ สิ่งนี้สะท้อนภาพความเป็นสังคมบริโภคนิยมสุดโต่งของคนยุคปัจจุบันที่อาหาร การแต่งกาย และการใช้ชีวิตไปไกลเกินกว่าการทำหน้าที่ของสิ่งของที่พวกมันเป็น แต่อาจบ่งบอกถึงฐานะและรสนิยมทางสังคมที่เงาเองไม่เคยเข้าใจ เพราะพวกมันเพียงแค่รับรู้ แต่ไมอาจรู้สึกได้แบบเดียวกัน และอยู่กันคนละสังคม   

การเรียนรู้เป้าหมายแห่งชีวิตและการปฏิวัติของเงา

เรด หรือ อเดเลดร่างเงาดูจะเป็นร่างโคลนเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถสื่อสารได้ และมีความนึกคิดเป็นของตัวเอง เหตุที่ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะว่าแท้จริงแล้ว เรด ก็คืออเดเลดตัวจริงที่ถูกสลับตัวโดยร่างเงาเมื่อตอนที่เธอยังเด็ก ซึ่งในขณะนี้สวมรอยเป็นเธอและกลายเป็นอเดเลดไปเสียแล้ว ด้วยความที่สามารถสื่อสารและบอกความต้องการของตัวเองต่อร่างเงาคนอื่น ๆ ได้ ทำให้เรดก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการปลุกระดมให้เงาคนอื่น ๆ นับถือเธอเป็นดั่งเทพ ความสามารถที่แตกต่างและองค์ความรู้ที่ถูกสั่งสมของเด็กหญิงคนหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตเหมือนกับร่างต้น ทำให้เรดพิเศษกว่าคนอื่น ทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของเหล่าเงาและเตรียมแผนการยึดครองชีวิตของร่างต้นเบื้องบน การปฏิวัติจึงเป็นวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้น และการปฏิวัติจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยหากเรดหรืออเดเลดตัวจริงไม่ได้มีโอกาสสัมผัสลิ้มรสชีวิตความเป็นอยู่อันทุกข์ยาก ไร้เป้าหมายของเงาคนอื่น ๆ การยึดครองโลกของคนข้างบน จึงกลายมาเป็นเป้าหมายในชีวิตของเหล่าเงา นั่นแสดงให้เห็นว่าการที่เงาไร้จิตวิญญาณนั้นจริง ๆ แล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น เงาสามารถเรียนรู้ได้หากได้รับการฝึกฝน หรืออบรมสั่งสอน เช่นเดียวกับร่างเงาของอเดเลด (ซึ่งขณะนี้กลายเป็นอเดเลดไปแล้ว) หลังจากทำการสลับตัวกับร่างต้นในวัยเด็ก เธอไม่สามารถสื่อสารได้ในตอนแรก แต่ก็สามารถทำได้ในที่สุด 

ความไม่โปร่งใส การปกปิดข้อมูล และภาวะไร้ซึ่งความรับผิดชอบของรัฐ

หนังได้เฉลยให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว เงาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลจากโครงการลับของรัฐบาลที่พยายามควบคุมประชากรเบื้องบนด้วยประชากรแฝดที่ถูกโคลนนิ่งขึ้น ผลจากการโคลนนิ่งทำให้ร่างเงามีรูปร่างหน้าตาเหมือนร่างต้นทุกประการ แต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณและการเรียนรู้ ไร้ซึ่งเป้าหมายในชีวิต เมื่อโครงการลับนี้ไม่ปรากฏผลสำเร็จ รัฐบาลจึงทิ้งให้เงามีชีวิตอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินทั่วประเทศอันเป็นที่ตั้งของการทดลองโครงการ ปล่อยให้พวกมันดำรงชีวิตด้วยการกินเนื้อกระต่าย อันเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวนได้ไวเพียงอย่างเดียวที่ทำให้พวกเงาไม่อดตาย แน่นอนว่าโครงการลับนี้ทางรัฐบาลไม่ได้แพร่งพรายป่าวประกาศไปยังสาธารณชน ทิ้งเบาะแสไว้แต่เพียงโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดมาในต้นเรื่องซึ่งถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกับการผลาญงบประมาณไปกับการสร้างโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ไม่โปร่งใส ขาดการประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ และการเปิดเผยข้อมูล เศษซากความล้มเหลวจึงปรากฏออกมาในรูปของสิ่งที่ไม่ได้ใช้ และร่างเงาที่เปลือยเปล่า ไร้การประกอบสร้างทางสังคม ถูกกดไว้ในมุมมืด และเมื่อปัญหาที่หมักหมมอยู่นี้ถูกสุมไฟโดยชนชั้นกลางที่(จำยอม)ใช้ชีวิตเบื้องล่างปลุกปั่นร่างเงาขึ้น เหตุการณ์สะเทือนขวัญก็ได้ปะทุขึ้น เผยให้คนข้างบนได้เห็น โดยที่พวกเขาส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเงาพวกนี้เกิดมาได้อย่างไร ในสายตาของคนข้างบน เงาจึงเป็นผู้ร้ายที่ลุกขึ้นมาก่อความวุ่นวาย แต่ศัตรูตัวจริงที่สร้างเรื่องนี้และเป็นต้นเหตุของโครงสร้างที่ผุพังอย่างรัฐกลับไม่ได้ตกเป็นเป้าของการโจมตี แม้กระทั่งในหนังรัฐก็ดูเหมือนจะล่องหนหายไป เช่นที่ผ่าน ๆ มาในโลกจริง   

Hands Across America วัฒนธรรมอเมริกันดรีมที่สะท้อนความไร้เดียงสาของการแก้ปัญหาสังคม

ในช่วงต้นเรื่อง หนังฉายภาพจากจอโทรทัศน์ที่กำลังบอกเราว่าสหรัฐอเมริกาในปี 1986 ซึ่งตรงกับยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน กำลังมีแคมเปญ Hands Across America มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยเฉพาะคนไร้บ้าน ด้วยการจับมือกันข้ามประเทศ จากตะวันตกสู่ตะวันออก ใน 48 รัฐ นี่เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมแรงร่วมใจของอเมริกันชนที่ต้องการขจัดความทุกข์ยากออกไป เหตุการณ์นี้สร้างความสนใจไปทั่วประเทศ ผู้คนต่างออกมาจับมือกันสร้างความสมัครสมานสามัคคีเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ผลปรากฏว่าโครงการนี้ล้มเหลว ระดมเงินหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้เพียง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วดูเหมือนว่าความเหลื่อมล้ำและความยากจนก็ยังคงอยู่และมีทีท่าหนักข้อขึ้น โครงการ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” นี้ จึงเป็นโครงการการกุศลชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว ที่หน้าฉากดูดีแต่สุดท้ายไม่อาจแก้ปัญหาใด ๆ ได้ในระดับฐานราก คนจน คนไร้บ้าน จึงเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวในการทำงานของรัฐเสรีนิยมใหม่ที่ปล่อยให้สังคมและปัจเจกชนแก้ไขวิกฤตกันไปเอง โดยที่ตัวเองไม่ถูกก่นด่า ลอยตัวจากปัญหาที่ตัวเองต้องแก้ไข ดูเหมือนว่าชนชั้นกลางผู้มองโลกในแง่ดี (ในเรื่อง) ไม่เคยตั้งคำถามต่อการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐและมองเห็นรากของปัญหา หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการแก้ไขอย่างจริงจังแต่อย่างใด  

อย่างไรก็ตาม ในท้ายเรื่อง Hands Across America ได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์การแสดงพลังของเงา ที่แสดงออกด้วยการจับมือกันไปทั่วประเทศข้ามน้ำ ข้ามภูเขา ซึ่งนั่นก็เกิดจากอเดเรด (ที่ตอนนี้กลายเป็นเรด) ที่เคยดูการถ่ายทอดสดทางทีวีในวัยเด็กได้เห็นแคมเปญนี้ แล้วหยิบมันมาเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ถูกกดขี่อย่างเงาได้ใช้เพื่อย้อนรอยความทรงจำและการกระทำอันโง่เขลาของผู้คนเบื้องบนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ได้อย่างเจ็บแสบ และปัญหาเหล่านี้ก็หลีกหนีไม่พ้นที่วันหนึ่งมันจะระเบิดขึ้นมาอย่างไม่มีปีมีขลุ่ย ดังที่ปรากฏในคำเตือนที่ผู้กำกับเผยให้เราเห็นตัวเลขชวนขบคิดอย่าง “เยเรมี 11:11” ซึ่งเป็นบทและวรรคหนึ่งในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมีคำกล่าวว่า “เพราะฉะนั้น พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า นี่แน่ะ เราจะนำเหตุร้ายมาเหนือเขา ซึ่งเขาหนีไม่พ้น ถึงเขาจะร้องทุกข์ต่อเรา เราก็จะไม่ฟังเขา” วจนะดังกล่าวจึงอาจเป็นลางร้ายที่จะปรากฏต่อเรา (us) ทุกคนในท้ายที่สุด และนั่นอาจหมายถึงชะตากรรมของสหรัฐอเมริกา (US) หากไม่มีการแก้ไขปัญหาสังคมที่หมักหมมไว้จนเรื้อรัง  

แสดงความคิดเห็น