THE TIME MACHINE : ข้ามเวลา มองอนาคต? หนึ่งในวรรณกรรมที่ดีที่สุดตลอดกาล

เดอะ ไทม์ แมชชีน (The Time Machine)
เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) เขียน
ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล แปล
สมมติ พิมพ์ และจัดจำหน่าย

“เหตุการณ์ที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ในอดีต เหตุการณ์ที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต่างก็ดำรงอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งของปริภูมิ-เวลาเดียวกันทั้งสิ้น”

ดร. คริสตี มิลเลอร์ (ศูนย์เพื่อการศึกษาเรื่องเวลาของมหาวิทยาลัยซิดนีย์)

‘การเดินทางข้ามเวลา’ ดูจะเป็นอะไรที่เกินที่มนุษย์จะจินตนาการได้ ถ้าหากเราสามารถข้ามเวลาไปในอนาคต หรือย้อนไปในอดีตได้จริง พวกเราก็คงอยากจะย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด หรือไปเฝ้าดูอนาคตของมนุษยชาติในอนาคตกันแน่ๆ หากแต่คำถามคือในอนาคตที่เราฝันถึงนั้นมันงดงามอย่างที่มนุษย์ฝันถึงกันจริงหรือ

เรื่องย่อ
เดอะ ไทม์ แมชชีน (1895) คือ หนึ่งในวรรณกรรมวิทยาศาสตร์คลาสสิค ว่าด้วยการท่องเวลาของผู้ที่ถูกเรียกว่า ‘นักท่องเวลา’
นักท่องเวลาได้พยายามสร้าง ไทม์ แมชชีน ขึ้นมา โดยมีกลุ่มผู้ติดตามผลงานเขาอยู่มากมาย ทั้งนักข่าว นายแพทย์ นักจิตวิทยา ฯลฯ โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะไปเฝ้ารอข้อมูลใหม่ๆ ที่บ้านของนักท่องเวลาทุกวัน เพื่อติดตามผลงานของเขา และในที่สุดนักท่องเวลาก็ได้บอกพวกเขาเหล่านั้นว่าตัวของเขานั้นได้ไปท่องเวลาในอนาคตมาแล้ว และเรื่องราวที่ถูกบันทึกของนักท่องเวลา กับอนาคตในปี ค.ศ.802701 ก็ถูกเล่าผ่านคำพูดของเขา

ร็อด เทย์เลอร์ นำแสดงในภาพยนตร์ยุคทศวรรษ 1960 ที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของเอช.จี. เวลส์

คุณค่าของ เดอะ ไทม์ แมชชีน
สำหรับผมแล้วคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ควรจะแบ่งออกเป็นสองส่วน
1) คุณค่าทางวิทยาศาสตร์
2) คุณค่าทางสังคมศาสตร์
ซึ่งแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ แต่ตัวของ เอช. จี. เวลส์ นั้นก็มีความเป็นนักสังคมนิยมอยู่ด้วย ซึ่งเราจะชี้ให้เห็นในย่อหน้าถัดๆ ไป

คุณค่าทางวิทยาศาสตร์

“คุณแน่ใจหรือว่าเราสามารถเคลื่อนที่ไปในอวกาศได้อย่างอิสระ? ทางขวา ทางซ้ายเราไปได้ ข้างหน้า หรือข้างหลังก็พอไปได้เช่นกัน ซึ่งมนุษย์เราก็ทำเช่นนั้นเสมอมาผมยอมรับว่าเราเคลื่อนที่อย่างอิสระได้ในสองมิติแต่ทางขึ้นกับทางลงล่ะ? อันนี้เราถูกจำกัดด้วยแรงโน้มถ่วง…แล้วไฉนเราจึงไม่คิดที่จะหวังว่าในที่สุดแล้วเราอาจจะสามารถหยุด หรือเร่งการ ลอยตัวไปตามกาลมิติได้ หรือกระทั่งเลี้ยวกลับและ ท่องไปอีกทาง?”

นักท่องเวลา

หากเราลองพิจารณาถึงข้อความด้านบนบทหนึ่งที่มาจากหนังสือ เราอาจจะคิดว่าข้อความนี้ก็เป็นเพียงข้อความธรรมดาๆ ไม่ว่าใครก็สามารถคิดได้ แต่หากเราลองมองกลับไปว่า นี่คือข้อความที่ถูกเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 19 แล้วล่ะก็ การเดินทางไปในห้วงเวลา(ในฐานะมิติที่ 4) ก็ดูเป็นอะไรที่ท้าทายมากในงานเขียนยุคนั้น ก่อนที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์จะพิมพ์ทฤษฎี ‘ว่าด้วยมิติของอวกาศ และกาลเวลา’ เสียอีก

คุณค่าทางสังคมศาสตร์

“ในตอนแรกการสืบสาวจากปัญหาของยุคสมัยเราเหมือนมันจะกระจ่างแจ้งดั่งแสงทิวาสำหรับผมว่า ช่องว่างที่ค่อยๆ ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันนี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว และความแตกต่างทางสังคมระหว่างชนชั้นนายทุน กับกรรมาชีพคือกุญแจที่นำไปสู่สถานการณ์ทั้งปวง”

นักท่องเวลา

แม้เรื่อง เดอะ ไทม์ แมชชีน นั้นจะเป็นวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตัวตนของ เอช. จี. เวลส์ นั้นเป็นนักสังคมนิยมอยู่มาก เพราะฉะนั้นงานเขียนของจึงถูกสอดไส้ด้วยแนวคิดแบบสังคมนิยม โดยการวิพากษ์ถึงความเหลื่อมล้ำ ระหว่างชนชั้นนายทุน และชนชั้นกรรมาชีพ ดั่งข้อความด้านบนนี้ ซึ่งเป็นตอนที่นักท่องเวลาได้เดินทางไปยังอนาคต และได้พบกับมนุษย์ 2 สายพันธุ์
(1) อีลอย มนุษย์บนบกที่เปราะบาง ขี้เกียจ และอ่อนแอ
(2) มอร์ล็อค มนุษยที่อาศัยอยู่ใต้ดิน แข็งแรง น่าเกลียดน่ากลัว
โดยทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำที่ออกห่างขึ้นไปเรื่อยๆ ในแต่ละยุค จนมนุษย์ต้องแบ่งผืนดินกันอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่สร้างความตระหนักเรื่องความเหลื่อมล้ำให้กับผู้อ่านได้

ยังมีประเด็นรองอีกมากที่น่าสนใจ

ในเล่มนี้ยังมีประเด็นรองอีกมากที่สามารถวิพากษ์ได้ แม้เนื้อในนั้นจะเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยมก็จริงแต่ตัวของเวลส์เองนั้นเป็นคนที่มีแนวคิดแบบ Fabian Socialism หรือสังคมนิยมที่มีวิธีแบบค่อยเป็นค่อยไป และเราจะเห็นว่า แม้ว่าเวลส์เองนั้นจะมองเห็นถึงการขูดรีด แต่เขาก็ปฏิเสธการปฏิวัติอย่างพวกมาร์กซิสต์ โดยสร้างเผ่ามอร์ล็อคขึ้นมาเป็นตัวแทน กรรมาชีพที่ขาดวินัย และบ้าเลือด (อาจหมายความได้ว่า กรรมาชีพนั้นไร้ความรู้ความสามารถ หากจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจำเป็นจะต้องเปลี่ยนจากบนลงล่างเท่านั้น) และยังมีประเด็นทางสังคมย่อยๆ อีกที่รอให้ผู้อ่านได้วิเคราะห์ และนำมาถกเถียงกัน

บทสรุป

หากใครกำลังหาวรรณกรรมที่ทั้งสนุก และวิพากษ์สังคมไปพร้อมๆ กัน เรื่อง เดอะ ไทม์ แมชชีน ก็คงจะตอบโจทย์ให้คุณได้ไม่มากก็น้อย ส่วนใครที่เคยอ่านแล้วการนำกลับมาอ่านซ้ำก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังสือเล่มนี้หมดไปเลย หากแต่จะทำให้คุณได้มองเห็นประเด็นต่างๆ ที่คุณไม่เคยมองเห็นได้เสียด้วยซ้ำ นี่คือหนังสือหนึ่งในร้อยของวรรณกรรมที่ดีที่สุดตลอดกาลที่คุณไม่ควรพลาด

หาซื้อได้ที่

SE-ED

สมมติ

แสดงความคิดเห็น