SIDDHARTHA( สิทธารถะ) : การแสวงหาความหมายของชีวิตผ่านสิทธารถะ

สิทธารถะ (SIDDHARTHA)
เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) เขียน
สดใส แปล
สำนักพิมพ์เคล็ดไทย จัดพิมพ์

เรื่องย่อ

สิทธารถะ เป็นวรรณกรรมที่ว่าด้วยการแสวงหาความหมายของชีวิต ผ่านตัวละครที่มีชื่อว่า ‘สิทธารถะ’ ชายหนุ่มผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์ และโควินทะสหายของเขา

สิทธารถะ เป็นเด็กหนุ่มที่ปราดเปรื่อง เข้าถึงปรัชญาของพราหมณ์ได้อย่างลึกซึ้ง จนเรียกได้ว่าเป็นปราชญ์ที่น่าเลื่อมใส บิดา มารดาของเขาภูมิใจที่ลูกของตนนั้นได้เป็นที่ยอมรับในคนหมู่มาก เช่นเดียวกับโควินทะสหายของเขาที่ก็อยากจะดำเนินรอยตามสิทธารถะไปในทุกแห่งหน ไม่ว่าจะในฐานะสหาย ข้ารับใช้ หรือเป็นเงาของเขาก็ย่อมได้ แต่หาใช่กับตัวของสิทธารถะไม่ ตัวเขาซึ่งไม่พึงพอใจในฐานะปราชญ์แห่งพราหมณ์ เขาคิดว่าเขาไม่อาจมีความสุขได้ตลอดไป สิ่งนี้ไม่สามารถทำให้เขาสงบได้ เขาจึงเลือกที่จะออกเดินทาง เปลี่ยนจากปราชญ์แห่งพราหมณ์ ไปสู่สมณะ โดยมีโควินทะออกเดินทางตามเขาไปด้วย

ตอนนี้สิทธารถะมีเป้าหมายเดียวคือ การแสวงหาความว่าง พ้นจากความกระหาย ความอยากได้อยากมี พ้นจากทุกข์ และสุข เหล่าสมณะอาวุโสจึงได้สอนให้เขาฝึกสมาธิตามหลักพรต ฝึกฌานปฏิบัติจนสามารถถอดจิตได้ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาต้องการเช่นกัน และในวันหนึ่งเขา และโควินทะก็ได้ยินเรื่องเล่าของสมณโคดมผู้น่าเลื่อมใส พวกเขาจึงตัดสินใจละทิ้งแนวทางแบบพรต และมุ่งหน้าหาพระพุทธเจ้า

หลังจากที่ สิทธารถะ และโควินทะได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว โควินทะก็ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในทันที แต่สิทธารถะนั้นหาได้เข้าร่วมด้วยไม่ แต่เขาเลือกที่จะออกตามหา ‘คำตอบ’ ของชีวิตด้วยตนเอง ตามแบบที่พระพุทธเจ้าทำ และหลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่อง ‘การค้นหาความหมายของชีวิต’ ของสิทธารถะ…

ความชาญฉลาดในการเล่าเรื่อง

ในเรื่อง สิทธารถะนั้น แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น 2 ภาค ภาคหนึ่งมี 4 บท และ ภาคสองมี 8 บท ซึ่งเข้าใจว่าตัวของ Herman Hesse นั้นหมายถึง อริยสัจ 4 (ภาคหนึ่ง) และ มรรค 8 (ภาคสอง) ซึ่งจะพาผู้อ่านไปเรียนรู้พร้อมกับตัวสิทธารถะ

เช่น ตอนที่ตัวของเขานั้นได้รับคำชื่นชมจากครอบครัว และในหมู่พราหมณ์ในตอนแรกนั้น ตัวของเขาเองก็ยังมี ‘ทุกข์’ ไม่พึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมี และต่อมาเขาก็ได้เดินทางออกบวชเป็นสมณตามกลุ่มของนักพรตเพื่อค้นต้นตอของปัญหา (สมุทัย) แต่เขาเองก็กลับได้พบหนทาง และสาเหตุที่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์นั้นผ่านพระพุทธเจ้า (นิโรธ) แต่ก็มิได้เชื่อ หรือเลือกที่จะปฏิบัติในทันที แต่เขากลับแสวงหาคำตอบนั้นด้วยตนเอง (มรรค)

การค้นหาความหมายของชีวิตผ่านการตั้งคำถาม และการลองผิดลองถูก

หลังจากที่ตัวของสิทธารถะนั้นได้แยกทางกับตัวของ โควินทะแล้วนั้น เขาก็ได้มุงแสวงหาความหมายของชีวิตด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งทางนั้นก็ไม่ได้เรียบง่าย เขาหลงทางไปกับอำนาจของวัตถุ กามา และเงินตรา เช่นเดียวกันกับปุถุชนคนอื่น ในตอนแรกนั้นเขาหลงตนเอง และคิดว่าเส้นทางเหล่านี้เป็นเพียงกรีฑาชั่วครู่ ซึ่งเข้ามา และก็จะผ่านไป แต่นานวันเข้าตัวของเขาเองก็หลงในอบายมุขเหล่านั้นจนมาถึงวันหนึ่งที่เขาเริ่มตระหนักถึงความไร้แก่นสารของตนเองอีกครั้งในวัยที่ล่วงเลยมานานจนตอนนี้เขามีหงอกขึ้นประปราย เขากลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งเหล่านี้?

กลับกันในตัวของโควินทะ แม้เขาจะดำเนินชีวิตตามพระวินัย แต่ตัวโควินทะนั้นก็ยังไม่สงบ การแสวงหาของเขานั้นก็ยังไม่ไปถึงจุดที่ตนเองพอใจ

หากเรามองย้อนกลับมาที่ตนเองโดยมองผ่านกรอบจากเรื่องของ สิทธารถะ แล้วนั้น ก็อาจจะมองได้ว่าความหมายของชีวิตนั้นไม่อาจเข้าใจได้อย่างง่ายๆ แม้จะมีหนทางที่คนอื่นกรุยเพื่อไปสู่ความสำเร็จนั้นแล้วก็ใช่ว่าจะทำให้เราเดินไปถึงได้เช่นคนอื่นแบบโควินทะ หรือแม้กระทั่งการแสวงหาความด้วยตนเอง แต่หากตั้งโจทย์ผิดก็ไม่อาจจะพบเจอความหมายของชีวิตได้เช่นแบบสิทธารถะ

ความสงบ คือการยอมรับความเป็นไป ทั้งดีและร้าย

ในตอนที่สิทธารถะนั้นพบกับความสงบ นั่นคือตอนที่ตัวของเขาเองยอมรับในความเป็นไปของโลกทั้งในด้านที่ดี เมื่อเขาไม่ผูกมัดตนเองอยู่กับด้านใดด้านหนึ่งแล้วนั้น เขาก็ไม่ซึมซับสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเป็นอัตตาของตน และเมื่อนั้นเองเขาก็ได้พบความสงบอย่างแท้จริง

สิทธารถะ อยู่ในตัวเราทุกคน
การอ่านสิทธารถะนั้น อ่านเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวก็ย่อมได้ แต่สิ่งที่สิทธารถะให้นั้นมากกว่าความบันเทิงเพียงอย่างเดียว สิทธารถะอาจทำให้ใครบางคนที่กำลังแสวงหาความหมายของชีวิต ที่กำลังกังวลกับอนาคต หรือปล่อยให้อดีตเข้ามาทำร้ายตนเองนั้นตระหนักถึง ‘สัจธรรม’ บางอย่าง แม้แต่คุณไม่เคยเข้าใจวิธีคิดแบบพุทธเลยก็ตาม เพราะนี่คือความเป็นจริงที่ว่า ‘ความสงบ’ นั้นจะเกิดขึ้นได้ เพียงแค่เราต้องยอมรับ ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นให้ได้ไม่ว่าจะดี หรือร้าย ซึ่งหากนำข้อคิดที่ได้จากการอ่านสิทธารถะมาปรับใช้กับชีวิตของเราก็อาจทำให้เรามีความสุขขึ้นได้ครับ สุดท้ายขอปิดด้วยประโยคที่ผมชอบจากหนังสือเล่มนี้แล้วกันนะครับ
“เหลืองของจีวรภิกษุ ดำของเสื้อคลุมบาทหลวง คร่ำเคร่งบริกรรมพร่ำสวด ใช่จะพาผู้แสวงหาพบสัจจะ ‘สิทธารถะ’ อยู่ในตัวเราทุกคน”

แสดงความคิดเห็น