วิถีบันทึกแบบบูโจ (THE BULLET JOURNAL METTHOD)
Ryder Carroll เขียน
นรา สุภัคโรจน์ แปล
BOOKSCAPE จัดพิมพ์
THE BULLET JOURNAL METHOD หรือ วิถีบันทึกแบบบูโจ ในชื่อภาษาไทยนั้น เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการ ‘จดบันทึก’ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดยคุณ Ryder Carroll ซึ่งในหนังสือจะเล่าว่า ในวัยเด็กของตัวเขานั้นเขาเป็นคนสมาธิสั้น ซึ่งปัญหาหลักของเขาคือ ‘การไม่สามารถควบคุมสมาธิได้’ ซึ่งเขาไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ควรจดจ่อในเวลาที่ควรได้ เมื่อมีสิ่งอื่นใดเข้ามาเบนความสนใจเขาก็จะหันเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นในทันที และกลายเป็นว่างานของเขาที่เคยทำอยู่นั้นก็จะถูกทิ้งไว้อย่างครึ่งๆ กลางๆ นั่นจึงทำให้เขาสงสัย และตั้งคำถามต่อคนที่ประสบความสำเร็จว่าเขามีวิธีจัดการชีวิตอย่างไร และเขากลับได้พบว่าเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จนั้นมักมีสมุดโน้ตติดตัวอยู่เสมอ นั่นเป็นที่มาที่ทำให้เขาหันมาสนใจการจดบันทึก และหลังจากนั้นตัวของเขาก็ได้นำวิธีการจดบันทึกให้แก่เพื่อนของเขา หลังจากที่เพื่อนของเขาได้ฟังวิธีการจดเพื่อนของเขาก็บอกกับเขาว่า “โลกต้องได้รู้วิธีการจัดบันทึกนี้” นั่นคือที่มาของเว็บ https://bulletjournal.com/ และหนังสือเล่มนี้
เนื้อหา
บุลเล็ต เจอร์นัล หรือ บูโจ นั้นคือการจดบันทึกซึ่งเป็นทั้งแพลนเนอร์ ไดอารี่ สมุดจดรายการสิ่งที่ต้องทำ โน้ตจิปาถะ รวมไปถึงสมุดวาดรูป ลงในเล่มเดียวกัน โดยในเล่มนี้จะแบ่งบทของหนังสือออกเป็น 5 ภาค คือ
1.เตรียมพร้อม
ซึ่งจะกล่าวถึงที่มาที่ไปของการจดบันทึกอย่างที่ได้อธิบายไปในย่อหน้าแรก เหตุผลที่คุณควรจะต้องจดบันทึก เป็นบทเปิดก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาในภาคต่อไป
2.ระบบของ บูโจ
ซึ่งจะเป็นบทที่สอนให้คุณเข้าใจวิธีการทำงานของบูโจ เรื่องสัญลักษณ์ การวางหัวข้อ การจัดทำดัชนีต่างๆ
3.การลงมือทำ
ในบทที่ 3 นี้เป็นบทที่ Ryder จะหาเหตุผล และกรณีศึกษาจากคนในชุมชนบูโจมาสนับสนุนการจดบันทึกของเขา ซึ่งผมมองว่าเหตุผลที่เขานำมาซัพพอร์ทนั้นใช้ได้ และทำให้เราเห็นด้วยไปกับเขาได้ไม่ยาก และในบทนี้ก็ยังพูดถึงรายละเอียด การประยุกต์ใช้ของวิธีการจดบันทึกอีกด้วย
4.ศิลปะ
ในบทนี้จะเป็นการให้คำแนะนำในการจดบันทึกพิเศษ ที่นอกเหนือจากการบันทึกแบบปกติ (ดัชนี, บันทึกอนาคต, บันทึกประจำเดือน และบันทึกประจำวัน) ซึ่งเป็นการไกด์ให้คุณว่าคุณสามารถจดบันทึกอะไรลงไปได้อีก
5.จบ
เป็นการปิดท้ายเล่มด้วยการสรุป การถาม-ตอบ ในคำถามที่พบบ่อย
เมื่อจบ 5 ภาคนี้ก็เป็นอันว่าจบสมบูรณ์ คุณสามารถทำสิ่งที่อ่านไปประยุกต์ใช้ในการจัดบันทึกแบบบูโจได้แล้ว
ในทัศนะของข้าพเจ้า
หลังจากอ่านจบผมก็ลงมือที่จะจดบันทึกในทันที ซึ่งการจดบัทึกนั้นใช่แต่เพียงบันทึกเรื่องราวเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้เราตระหนักในสิ่งที่เรากำลังทำ และดำเนินชีวิตได้อย่างดีอีกด้วย ในโลกที่อินเตอร์เน็ตเข้ามาเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่งก็อาจทำให้เราพลาดสิ่งเล็กๆ รอบตัวไปได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว การจดบันทึกแบบออฟไลน์นั้นสามารถเข้ามาเติมเต็มตรงนี้ได้เป็นอย่างดี แถมการจัดระเบียบชีวิต ทั้งแผนงาน เรื่องที่ควรจะทำก็ง่ายขึ้น เพียงแต่ต้องแลกกับเวลาส่วนหนึ่งมาจดบันทึกเพิ่ม แต่สำหรับผมแล้วเป็นเวลาที่น้อยมากหากเทียบกับการไถ feed ในโซเชียลแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นชั่วโมงๆ โดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย
นับได้ว่าการจดบันทึกแบบูโจนั้นเป็น ‘ปรัชญา’ การดำเนินชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย หากคุณกำลังมองหาหนังสือที่จะช่วยให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์มากๆ อย่างที่คำโปรยหลังหนังสือกล่าวเอาไว้ว่า
“วิถีบันทึกแบบบูโจ เหมาะสำหรับใครก็ตามที่อยากจัดระเบียบชีวิต นักสร้างสรรค์ที่ต้องการกรอบชัดเจน หรือคนที่กำลังค้นหาเป้าหมายของตนท่ามกลางกระแสดิจิทัลอันท่วมท้น หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนคุณจากที่เคยเป็นแค่ผู้โดยสารให้กลายเป็นกัปตันที่ควบคุมชีวิตได้ดั่งใจปรารถนาผ่านการบันทึกอดีต จัดระเบียบปัจจุบัน และออกแบบอนาคตด้วยมือคุณเอง”
ซึ่งผมคิดว่าคำโปรยนี้ไม่ได้เวอร์เกินไป เพียงแค่คุณลงมือจดบันทึกตามวิถีบูโจ